หน้าหลัก แผนที่ ติดต่อเรา ร่วมงานกับเรา  



สำหรับนักเขียนคนเก่งท่านนี้ เชื่อว่าหลายคนต้องคุ้นหน้าคุ้นตา+ คุ้นชื่อเธอเป็นอย่างดี เพราะเธอร่วมงานกับ I Get English มานานตั้งแต่ปี 2551
และเขียนหลายคอลัมน์ซะด้วย มารู้จักกับเธอกันเลยค่ะ

ทักทายคุณผู้อ่านหน่อยค่ะ
อารดา กันทะหงษ์ ไม่มีนามปากกาค่ะ รับผิดชอบคอลัมน์ติดปากติดใจ ไอไดอารี่ และถอดรหัสวัฒนธรรมฝรั่ง

คุณอารดาเรียน หรือว่าทำงานอะไรอยู่คะ
เรียนจบมาด้านวรรณคดีอังกฤษค่ะ แล้วไปต่อด้านการสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนั้นกลับไปเป็นอาจารย์
สอนภาษาอังกฤษให้กับคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่หลายปี ก่อนไปเรียนต่อด้านการสอนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมที่ประเทศอเมริกา แล้วต่อด้วยการแปลศึกษาที่ประเทศอังกฤษ เรียนจบไม่ยอมกลับบ้าน ไปทำงานด้านการศึกษาและภาษาที่ประเทศเนเธอร์แลนด์อยู่หลายปี ปัจจุบันย้ายกลับมาทำงานด้านภาษาให้กับบริษัทในประเทศอังกฤษ
นิยามโดยรวมๆ ของเราคงเป็นนักภาษาศาสตร์ (Linguist) และบวกกับการที่แวะไปลั้นลาซะหลายประเทศ ทาง I Get English เลยเปิดโอกาสให้
เราได้แชร์ประสบการณ์และความรู้กับผู้อ่านตามทักษะที่เราถนัด

เริ่มเข้ามาทำงานกับ I Get English ยังไงคะ
ชอบการอ่านและการเขียนมาตั้งแต่เด็ก มีผลงานแปลเรื่องสั้นลงนิตยสารอยู่บ้าง เคยลองส่งงานเขียนสารคดีเยาวชนเรื่องแรกไปประกวดโครงการ
แว่นแก้ว ได้เข้ารอบสุดท้าย แต่กินแห้วซะก่อน เลยลองผันตัวมาเป็นนักเขียนคอลัมน์ดูบ้าง เมื่อได้โอกาสอันยิ่งใหญ่จาก I Get English เมื่อปี 2551 ก็รีบตะครุบไว้ทันทีค่ะ ได้ทีมงานน่ารัก เข้าอกเข้าใจ และกันเองมาก ทำให้เรามีความสุขและสนุกกับงานเขียนที่นี่ทุกชิ้น

คอลัมน์ที่คุณอารดารับผิดชอบอยู่เกี่ยวกับอะไรบ้าง
คอลัมน์ติดปากติดใจเป็นออพชั่น (Option) เสริม หรือหลักสูตรเร่งรัด สำหรับคนที่ต้องการตัวอย่างประโยคสำเร็จรูปในสถานการณ์ต่างๆ จดจำไว้
แล้วหยิบมาใช้ได้ทันทีตามสโลแกนคอลัมน์ค่ะ
ส่วนคอลัมน์ไอไดอารี่เป็นเรื่องเล่าวัฒนธรรมและความคิดอ่านของผู้คนแต่ละประเทศผ่านประสบกาณ์จริงของชีวิตเราเองและคนรอบข้างในต่างแดน
เราไม่ตัดสินวัฒนธรรมเขาว่าขาวหรือดำ แต่เราก็ไม่บิดเบือนข้อมูลเหมือนกันค่ะ รับประกันของจริงทุกตอน เพราะอยากให้คนอ่านได้วิเคราะห์กันเอง และเป็นการช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้คนไทยด้วย
ส่วนคอลัมน์ถอดรหัสวัฒนธรรมที่ นำเสนอวัฒนธรรมแปลกๆ ของฝรั่งที่เรารับมาจน (อาจ) กลายเป็นความคุ้นชินไปโดยไม่ทันฉุกคิดว่ามีที่มาอย่างไร
และทำไปเพื่ออะไร คอลัมน์นี้จะช่วยไขข้อสงสัยให้ได้

ถ่ายทอดความรู้ลงคอลัมน์ได้ลื่นไหล สนุกสนานขนาดนี้ ต้องเป็นคนที่รักภาษาอังกฤษแน่ๆ ทำไมถึงรักภาษาอังกฤษคะ
ต้องขอบคุณการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ช่วยให้เราซึมซับการรักภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก โดยส่วนตัวคิดว่าภาษาอังกฤษเหมือนกุญแจวิเศษของอลิซ
ที่ใช้ไขประตูเปิดสู่แดนมหัศจรรย์ เปิดสู่โลกความรู้และความบันเทิงได้แบบไร้ขีดจำกัด เนื่องจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลที่ใช้แพร่หลายทั่วโลก เมื่อเรามีภาษาอังกฤษเป็นอาวุธในมือแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนชีวิตก็พบความสนุก ความตื่นเต้น ความสำเร็จ และความอิ่มเอมได้ ไม่ว่าจะอยู่ท่ามกลางผู้คนนับร้อย หรืออยู่คนเดียวกับหนังสือดีๆ สักเล่ม้

ส่วนไหนของภาษาอังกฤษที่คิดว่า “ยากที่สุด”
ภาษาไม่ใช่เพียงเครื่องมือการสื่อสาร แต่ยังสะท้อนถึงวัฒนธรรมและรูปแบบของสังคมที่ใช้ภาษานั้นๆ ด้วย การเรียนภาษาให้ได้ผลจึงควรเรียนแบบ
องค์รวม ไม่ใช่ว่าเพียงรู้ไวยากรณ์ ท่องศัพท์ได้ ออกเสียงได้ก็คือได้แล้ว แต่เราต้องเข้าใจภาษาในบริบทของสังคมนั้นๆ ด้วย คำหนึ่งคำเปิดดิกชันนารีดูอาจมีความหมายให้ 2-3 ตัวอย่าง แต่เราจะเลือกใช้คำไหนกับบริบทไหน ระดับความแรงความสุภาพของมันมากแค่ไหน เป็นคำสแลงด้วยหรือเปล่า ไม่มีใครบอกเราได้หมด เราต้องค่อยๆ ซึมซับ ค่อยๆ สร้างความคุ้นชินกับวัฒนธรรมนั้นๆ ไปด้วย ดูหนัง ฟังเพลง ฟังเจ้าของภาษาเขาคุยกัน ภาษาเป็นเรื่องมหัศจรรย์ ภาษาดิ้นได้ และมีวิวัฒนาการตลอดเวลาด้วย ดังนั้น แม้การเรียนภาษาอังกฤษจะมีกฏเกณฑ์มาเป็นแผนที่เป็นเข็มทิศนำทางให้เรา แต่สุดท้ายแล้วเราก็ต้องเงยหน้ามองป้ายข้างทาง มองฟ้าฝน มองสถานการณ์รอบตัวประกอบด้วย ถ้าพร้อมจะเรียนรู้ภาษาแบบองค์รวมแล้ว ความยากจะกลายเป็นความสนุกแบบไม่รู้ตัวค่ะ

เคล็ดลับการฝึกฝนภาษาอังกฤษแบบอารดา กันทะหงษ์
มีสองสิ่งที่ขาดไม่ได้ อย่างแรกคือ “Enquiring mind” ควรเป็นคนช่างคิด ช่างสงสัย และกระตือรือร้นที่จะหาคำตอบ เวลาเราได้อ่านได้ฟัง
ภาษาอังกฤษ แล้วสะดุดใจกับประโยคแปลกๆ ชอบสงสัยว่าศัพท์ตัวนี้มันเหมือนตัวนั้นไหม ทำไมเวลามันถูกใช้ต่างสถานการณ์แล้วความหมายเปลี่ยนเยอะเลย แล้วชอบเก็บมาวิเคราะห์หาคำตอบเองดู จากการหาข้อสรุปจากตัวอย่างซ้ำๆ บ้าง จากการถามฝรั่งตรงๆ เลยบ้าง ยิ่งเราได้รู้อะไรมากขึ้นก็ยิ่งชอบ แล้วทำให้เราเรียนรู้ภาษาอย่างเป็นธรรมชาติ และอย่างถูกต้องด้วย เพราะไม่ได้เดามั่วเอาเอง หรือสักแต่พูดตามๆ เขาไป
อย่างที่สองคือ “Practice” ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง เพราะภาษาคือทักษะ จะชำนาญได้ก็ต้องผ่านการฝึกการลับให้เฉียบคมตลอด พร้อมใช้งานได้เสมอ
คำไหนที่ออกเสียงยากก็ลองหัดซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ศัพท์ตัวไหนจำยากก็ลองหยิบมาใช้บ่อยๆ ไม่ให้ลืม สักวันเราก็จะทำได้ และทำได้ดีด้วย

ฝากอะไรทิ้งท้ายไว้ให้ผู้อ่านนิดนึงค่ะ
จงอย่ากลัวถ้าต้องการประสบความสำเร็จ และอย่าแคร์กับความคิดคนอื่นมากกว่าความตั้งใจของตัวเอง แม้คำว่า “Practice makes perfect.”
จะเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนได้ แต่เราเชื่อว่าคำว่า “perfect” หรือ “ความสมบูรณ์แบบ” นั่นแหละที่อาจทำให้อีกหลายคนมัวกังวลจนยอมแพ้ไปซะก่อน ลองเปลี่ยนมาเชื่อว่า “Practice makes confident.” หรือ การฝึกฝน (ภาษาอังกฤษ) นำไปสู่ความมั่นใจดีกว่า เพราะเมื่อมั่นใจแล้ว เราจะไม่กลัวอุปสรรค และทุกอย่างจะออกมาดีแน่นอนค่ะ